วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านท่าโพ
ประวัติบ้านท่าโพ
บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานีสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัย
อยุธยาตอนปลายราวพุทธศักราช ๒๐๓๔มีคนไทยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ที่แห่งนี้ โดยนำกองเกวียนขนย้ายมาเป็นขนาดใหญ่มีผู้นำเป็น
หัวพัน หัวหมื่น ชื่อ พันสี พันตุ่นหมื่นแสน แล้วแยกย้ายกันตั้งหมู่บ้าน
ใกล้ลำห้วยเป็นหมู่บ้านท่าโพ หมู่บ้านพันสี หมู่บ้านพันตุ่นและหมู่บ้านตอน หมื่นแสนนิยมนำโคมาลงที่ท่าน้ำบ้านท่าโพเนื่องจากเป็นที่ดอนกันดารน้ำ
ในฤดูแล้งในสมัยก่อนบ้านท่าโพเป็นเส้นทางเดินทัพของทหารไทยอันปรากฏในเสภาขุนช้าง
ขุนแผนฉบับคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๐๕ (หน้า๑๗๘ บรรทัดที่ ๑๙ ) ความว่า

“พลายแก้วขี่คชสังหาร สูงตระหง่านเงื้อมเงื้อมอยู่ในป่า
วันหนึ่งก็พอถึงทุ่งโสภา อนิจจาพิมพี่ผู้งามงอน
บ้านกระทงตรงข้ามไปท่าโพธิ์ โอ้ว่าโพธิ์สามต้นยังอ่อนอ่อน
ค่ำลงปลงทัพให้หลับนอน รุ่งยกพลผ่อนข้ามน้ำไป
ลัดล่วงนครสวรรค์ดั้นด้น ตัดทางหาลงตามน้ำไม่”
บ้านทุ่งโสภา อยู่ใต้บ้านหนองพญาใต้ อำเภอวัดสิงห์ เขตอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท บ้านกระทง อยู่หลังอำเภอวัดสิงห์ เรียกบ้านกระทงหนองบัว ใกล้บ้านเนินพะยอม เขตอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี หยุดพักทัพที่บ้านท่าโพแล้วรุ่งขึ้นจึงเดินทางไปข้ามแม่น้ำสะแกกรัง เข้าใจว่าตรงหาดสูง
หรือบ้านตานาดตัดตรงไปจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันยังมีต้นโพธิ์สูงใหญ่อยู่ในหมู่บ้านท่าโพ

ความเป็นมาของเพลงพื้นบ้านท่าโพ
เพลงพื้นบ้านท่าโพ เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ชาวบ้านท่าโพร้องและเล่นสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
สันนิษฐานว่าในอดีตบ้านท่าโพก็จะร้องรำทำเพลงที่มีในท้องถิ่นของตนจึงทำให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรม
การแสดงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในหมู่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงพิษฐาน เพลงชักเย่อ เพลงโลม เพลงรำวง เพลงกรุ่น เพลวงบวชนาค ฯลฯ

บทเพลงพื้นบ้านท่าโพ
พลงพื้นบ้านท่าโพที่เล่นกันอยู่แต่เดิมนั้นมีหลายชนิด เช่น เพลงพิษฐาน เพลงโลม เพลงชักเย่อ เพลงกรุ่น เพลงฮิลเลเล เพลงเกี่ยวข้าว เพลงรำวงโบราณ เพลงกล่อมลูก หรือเพลงกล่อมเด็ก เพลงรำสวด และเพลงประกอบการละเล่นพื้นบ้าน
จำนวนคนเล่น จะมีกี่คนก็ได้ มีลีลาการร่ายรำไปตามจังหวะและทำท่าทางประกอบตามเนื้อร้องของบทเพลงนั้น ๆ โดยใช้
กลองรำมะนาเป็นเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่จะสวมเสื้อคอกลมลายดอก ละนุ่งโจงกระเบนการเล่น
จะร้องรำเป็นคู่ชายหญิง มีลูกคู่ร้องรับ ลักษณะการเล่นเพลงพื้นบ้านท่าโพ จะแยกออกเป็นประเภทได้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑.เพลงพื้นบ้านที่เล่นตามเทศกาล ประเภทเกี่ยวกับความรัก การเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาว
๑.๑เพลงพิษฐาน
เพลงพิษฐาน เป็นเพลงที่ใช้เล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ หลังจากทำบุญตักบาตร
แล้วหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ และเด็ก ๆ จะนำดอกไม้ ธูปเทียนเข้าไปในโบสถ์ มือถือ
ดอกไม้ประนมมืออยู่หน้าพระประธาน โดยนั่งแยกกันเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายชาย
และฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะเริ่มร้องเพลงพิษฐานหรืออธิษฐานขึ้นก่อน แล้วคนอื่น ๆ
จะเป็นลูกคู่ร้องรับต่อไปฝ่ายหญิงจะร้องแก้บ้าง แล้วลูกคู่ร้องรับ สลับกันไป




๑.๒ เพลงชักเย่อ
เพลงชักเย่อ นับว่าเป็นเพลงพื้นบ้านท่าโพที่แท้จริง เนื่องจากยังไม่เคยพบการเล่นในท้องถิ่นอื่น เพลงชักเย่อใช้ร้องรำก่อนการเล่นชักเย่อ เล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์วิธีการเล่น แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย
คือ ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมีพ่อเพลง แม่เพลงร้องนำ
และมีลูกคู่ร้องรับ ผู้ร้องนำทั้งชายและหญิง
ต้องออกมาร้องและรำอยู่กลางวง ร้องแก้กันมีลูกคู่ร้องรับสลับกันเป็นคู่ ๆ สุดท้ายทั้งฝ่ายชาย
และฝ่ายหญิงจะเกาะเอวต่อกันหัวหน้าฝ่ายชายกับหัวหน้าฝ่ายหญิงจับมือกัน โยกตัวไปตามจังหวะเพลง แล้วดึงกันแบบการเล่นชักเย่อ ฝ่ายใดสามารถดึงฝ่ายตรงข้ามไปทางฝ่ายตนได้เป็นฝ่ายชนะ

๑.๓ เพลงโลม
เพลงโลมหรือเพลงช้าเจ้าโลม เป็นเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงปฏิพากย์เนื้อร้องเป็นการเกี้ยวพาราสีกัน
ระหว่างชายกับหญิง
วิธีการเล่น ผู้เล่นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตั้งวงหรือแถว แบ่งเป็นฝ่ายชายและ
ฝ่ายหญิงคนร้องนำฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
จะเข้าอยู่ในวงทีละคู่ ร้องโต้ตอบกันและรำไปด้วย
การร้องจะคล้ายเพลงชักเย่อ แต่ลูกคู่รับต่างกัน เนื้อเพลงเปรียบอาการ
ของนางช้าง ใช้คำพูดสองแง่
สองง่ามให้คิด และว่ากันเจ็บ ๆ โดยขึ้นต้นด้วยคำว่า โลมแม่โลม หรือ โลมพ่อโลม

๑.๔ เพลงกรุ่น
เพลงกรุ่น เป็นเพลงพื้นบ้านท่าโพ ที่ใช้ร้องเล่นกันในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ลักษณะเป็นเพลงร้องโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิง
วิธีการเล่น พ่อเพลงแม่เพลงจะออกมาร้องรำกลางวง ลูกคู่ปรบมือ และร้องรับ
๑.๕ เพลงฮิลเลเล เพลงฮิลเลเล เป็นเพลงที่ร้องเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มกับสาว
วิธีการเล่น แบ่งเป็นฝ่ายชายฝ่ายหญิงเหมือนเพลงกรุ่น ผิดกันตรงเนื้อร้องและทำนอง
๑.๖ เพลงระบำ
เพลงระบำ เป็นเพลงที่เล่นกันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้ในเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ ลักษณะการเล่นคล้ายเพลงฉ่อย ไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบ มีเพียงลูกคู่ปรบมือเป็นจังหวะ

๒.เพลงพื้นบ้านที่เล่นตามงานพิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรม

๒.๑ เพลงบวชนาค
เพลงบวชนาค เป็นเพลงที่ใช้ในงานอุปสมบท ร้องเพื่อความสนุกสนาน เนื้อร้องเป็นการล่ำลา สั่งเสียระหว่างพ่อนาคกับคนรัก ที่ต้องจากไปบวช
เป็นเวลาหนึ่งพรรษา ผู้ร้องคือ หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ร้องขณะที่นำนาค
ไปวัดหรือวนรอบพระอุโบสถสามรอบ
วิธีการเล่น พ่อเพลงจะร้องนำ
ในนามของพ่อนาค ส่วนแม่เพลงร้องนำในนามคนรักของพ่อนาค ร้องสลับกันเป็นคู่ ๆ ส่วนคนอื่น ๆ เป็นลูกคู่



๒.๒ เพลงรำสวด
เพลงรำสวด ใช้เล่นในการสวดศพ หลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบแล้ว จุดประสงค์คือ ต้องการอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพงานศพในเวลากลางคืน และให้เจ้าภาพคลายความโศกเศร้า
ลักษณะการเล่น ผู้เล่นจะนั่งล้อมวง หรือนั่งเป็นแถว ฝ่ายชายหนึ่งแถว ฝ่ายหญิงหนึ่งแถว หันหน้าเข้าหากัน ส่วนมากจะใช้สถานที่ที่พระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรม ฝ่ายชายจะเริ่มร้องก่อน โดยขึ้นต้นด้วย
นะโม ๓ จบ ขณะที่ร้องทั้งชายหญิงจะร่ายรำไปด้วยเนื้อร้อง
จะเป็นเรื่องราวที่นำมาจากวรรณคดี
หรือนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน สามก๊ก ไชยเชษฐ์

๓.เพลงพื้นบ้านที่เล่นตามฤดูกาล
๓.๑ เพลงเกี่ยวข้าว ใช้ร้องเล่นในขณะที่กำลังเกี่ยวข้าวโดยในมือซ้ายกำต้นข้าวมือขวากำเคียว
ก้มลงเกี่ยวข้าว เต็มกำแล้วก็วางแผ่ลงแล้วก็ก้มลงเกี่ยวเดินหน้าต่อ ๆ ไปบทเพลงเกี่ยวข้าวจึงมีเนื้อร้องสั้น ๆ การร้องจะเป็นการยั่วเย้าล้อเลียนกันสนุก ๆ โดยมีคนร้องนำและลูกคู่รับ ไม่มีการปรบมือหรือ
ใช้เครื่องดนตรีประกอบเพราะมือไม่ว่าง เป็นการเล่นขณะทำงาน เพื่อความสนุกสนาน และผ่อนคลายความเมื่อยล้ามาจัดเป็นการแสดงก็ไม่ได้ร้องเล่นในนา แต่จะแต่งตัวสวยงาม จัดฝ่ายหญิงฝ่ายชายมีพ่อเพลงแม่เพลงเป็นหัวหน้า ถือเคียวมือหนึ่ง ต้นข้าวมือหนึ่ง ร้องรำไปตามเพลง

๔.เพลงพื้นบ้านเกี่ยวกับเพลงกล่อมลูก
เพลงกล่อมลูกหรือเพลงกล่อมเด็ก เป็นคติชาวบ้านประเภทใช้ภาษาเป็นสื่อมีการถ่ายทอดจากปากสู่ปาก
มาแต่โบราณเรียกว่า “มุขปาฐะ” เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีบทบาท และหน้าที่ แสดงเอกลักษณ์ของ
แต่ละชุมชนเพลงกล่อมลูกในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาค


๕.เพลงพื้นบ้านเกี่ยวกับการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นิทานพื้นบ้านชาดก วรรณดคีไทย
เพลงรำวงโบราณ
“รำวง” เป็นการละเล่นพื้นบ้านแบบหนึ่งที่ร่วมกันแสดง โดยไม่แยกผู้ดูกับผู้แสดงเพราะผู้ดูอาจเข้าร่วม
รำวงด้วย นอกจากจะมีผู้ตีกลอง และเครื่องทำจังหวะอื่น ๆ เดิมใช้โทนอย่างเดียว จึงเรียกว่า
“รำโทน” เมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมา ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะในยามสงคราม ไม่มีมหรสพหย่อนใจอย่างอื่นที่ดีไปกว่ารำโทน ทางราชการเห็นว่ารำโทน
นอกจากจะทำให้เกิดการผ่อนคลายอารมณ์บังเกิดความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นการแสดงความ
สามัคคีของกลุ่มชนอีกด้วย
ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีต้องการเชิดชูรำโทน
ให้เป็นศิลปะประจำชาติ จึงส่งเสริมการละเล่นชนิดอื่น ให้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่ง โดยมีการปรับปรุงแบบแผนการเล่นให้เป็นรำวง และพัฒนาเป็นรำวงมาตรฐาน

เพลงรำวงของบ้านท่าโพ ที่นำมาร้องมาเล่นกันนั้น เป็นเพลงดั้งเดิมที่จำต่อกันมาไม่นิยมดัดแปลงเนื้อร้อง จึงเรียกว่า “รำวงโบราณ” แต่การถ่ายทอดจากปากสู่ปากอาจทำให้เปลี่ยนไปจากเดิมบางส่วน และมีเพลงรำโทนจากถิ่นเข้ามาปะปนบ้าง
วิธีการเล่นรำวงโบราณ
คนนำร้องเพลงรำวง และคนอื่น ๆ ร้องเพลงไปพร้อมกันโดยมีโทนหรือรำมะนาเป็นเครื่องประกอบจังหวะ ผู้รำฝ่ายชายจะไปโค้งฝ่ายหญิงเพื่อเชิญออกมารำวงคู่กันแล้วพากันรำเป็นคู่ ๆ เดินวนเป็นวงกลม
เนื้อร้องของเพลงรำวงโบราณ แบ่งได้เป็น ๓ แนว ได้แก่
๑.การเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น เพลงไตรรงค์
๒.กล่าวถึงตัวละครในนิทานพื้นบ้าน ชาดก และวรรณคดีไทย เช่น สังข์ทอง โมรา
พระเวสสันดร
๓.การเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เช่น เพลงเธองาม เพลงไม่รักไม่ว่าเนื่องจากเพลงรำวงนั้น เป็นเพลงสั้นๆ และมีจำนวนมาก
จึงเรียกชื่อเพลงตามวรรคแรกของเพลงส่วนท่ารำ ก็จะรำไปตามบทบาทของเนื้อเพลง

การสืบสานเพลงพื้นบ้านท่าโพ

เพลงพื้นบ้านท่าโพ มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบธรรมชาติ คือ
การเล่นเพลงร่วมกัน การได้ดู ได้ฟังแล้วจำมาร้องเล่นโดยไม่ต้องมีการสอนกัน
เรียกว่าเรียนรู้จาก “ครูพักลักจำ” ในช่วงแรก ๆจะมีพ่อเพลงแม่เพลงช่วยกันคิดแต่งเพลง
ขึ้นมาร้องเล่นกัน เมื่อเห็นว่าสนุกสนานดีจึงกลายเป็นที่ชื่นชอบจำต่อกันมา และมีการคิดเพิ่มเติม จนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเพลงเพลงพื้นบ้านท่าโพค่อย ๆ หายไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง
ทางวัฒนธรรม การดำรงชีวิตที่ต้องเร่งรีบ การแทรกแซงของวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อม
สื่อต่าง ๆ บางบทเพลงไม่มีใครร้องเล่นให้ได้ดูได้ฟังอีก เช่น เพลงบวชนาค เพลงโลม เพลงชักเย่อ แต่นับว่าโชคดีที่ยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยได้ยินได้ฟังเพลงดังกล่าว สามารถจำได้แม่นยำและร้องให้ฟังได้
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ ทางราชการเห็นความสำคัญและคุณค่าศิลปวัฒนธรรม
เพลงพื้นบ้านจึงมีการฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านขึ้น ในขณะนั้นหน่วยงานทางการศึกษา คือ หน่วยศึกษานิเทศก์
กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีชาวบ้านท่าโพและชาวอำเภอหนองขาหย่าง รับราชการในหน่วยงานดังกล่าวหลายท่าน เช่น นายสละ โพธิยานนท์ นายแท้ คงห้วยรอบ (ปัจจุบันเสียชีวิต)
ได้ร่วมมือกับข้าราชการครูในพื้นที่และชาวบ้านท่าโพ ช่วยกันค้นคว้าและรวบรวมบทเพลงพื้นบ้าน
ท่าโพขึ้น ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ ในอำเภอหนองขาหย่างและในจังหวัดอุทัยธานี
ีโดยการนำของ นายโสภณ เทพพานิช ซึ่งเป็นนายอำเภอหนองขาหย่างในขณะนั้น ได้จัดการแสดง
เพลงพื้นบ้านขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักเพลงพื้นบ้านท่าโพมากขึ้น ปัจจุบัน มีการถ่ายทอดการเล่น
เพลงพื้นบ้านท่าโพด้วยวิธีการสอนโดยตรงแก่่ลูกหลาน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงได้สละเวลาไปสอนที่โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนวัดท่าโพ
โรงเรียนหนองขาหย่างวิทยา ซึ่งเห็นคุณค่าของเพลงพื้นบ้าน บรรจุไว้ในหลักสูตรและโครงการ
ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้ติดต่อเชิญพ่อเพลงแม่เพลงไปสอน










ไม่มีความคิดเห็น: