วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การทอเสื่อหวาย

การทอเสื่อหวายบ้านเกาะหงส์
๑.ความเป็นมา
การทอเสื่อหวาย จัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมอย่างหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ หมู่บ้านที่ทอเสื่อหวายกันมาก ได้แก่ บ้านเกาะหงส์ บ้านตะเคียนเลื่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในอดีตนิยมทอกันแทบทุกครัวเรือนทั้งหมู่บ้าน
การทอเสื่อหวายนิยมใช้หวายขม กับ หวายน้ำ เป็นวัสดุในการผลิต ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมการทอเสื่อหวาย เพราะวัสดุหายาก อีกทั้งเมื่อเมื่อผลิตแล้วขายยาก จากการเก็บข้อมูลพบผู้ที่ยัง
ทอเสื่อหวาย คือ นางจินดา กิจติยา อายุ ๕๔ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐/๑ หมู่ที่ ๘ ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
การทอเสื่อหวายมีการวัดขนาดความยาวต่าง ๆ กันได้แก่ ๑ วา ๑๑ คืบ, ๒ วาครึ่ง, ๕ วา การทอเสื่อหวายจะทำเป็นลายขัดสลับกัน ซึ่งเป็นลายขัดธรรมดา โดยใช้หวายเป็นตอกยืนแล้วใช้ปอแสลงพันเป็นตัวสานสลับไปมาระหว่างเส้นหวาย ลายขัดได้วิวัฒนาการจาการสานขัดกันระหว่างเส้นแนวตั้งและแนวนอนอย่างละเส้น แต่การทอเสื่อหวายจะเป็นลายขัดสลับด้วยปอในแนวนอน
๒.วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน
ในการผลิตเสื่อหวายสมัยก่อนใช้วัสดุในการผลิต ๒ อย่างเท่านั้น คือ หวายและปอแสลงพัน
แต่ปัจจุบันนี้มีการใช้ด้ายสีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงาม และเชือกไนล่อนเส้นเล็กในการเก็บหัวเสื่อ
(ริมเสื่อ)เพื่อความคงทน
๑. หวาย
เป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นยาวเลื้อยเกาะไปตามต้นไม้ที่สูงกว่าบริเวณเปลือกรอบ ๆ ต้นเป็นหนามแหลมคม ในการทอเสื่อหวายนิยมใช้หวายขมกับหวายน้ำ (หวายขมจะขึ้นบนบกส่วนหวายน้ำจะชอบขึ้นบริเวณริมคลอง) ซึ่งพอจะหาได้ในพื้นที่ ตำบลตะเคียนเลื่อน แต่มีน้อยไม่เพียงพอ ส่วนมากจะรับซื้อจากชาวบ้านที่นำมาขาย ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตาก หวายที่รับซื้อมาจะมัดเป็นกำ กำหนึ่งจะมี ๑๐๐ เส้น ราคากำละ ๕๐ บาท หวายที่ซื้อมาจะเป็นหวายที่ยังไม่ได้เหลา จะต้องนำมาเหลาเองหรือจ้างเหลาก็ได้ ราคาจ้างเหลากำละ
๑๐ บาท

การเหลาหวาย
ต้นหวายที่ใช้ในการทอเสื่อหวายจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นผิวหวายเท่านั้น เพราะบริเวณผิวหวายมีความแข็งแรง ส่วนเนื้อด้านในลำต้นจึงต้องเหลาทิ้ง การเหลาหวาย เป็นการเอาเนื้อด้านในลำต้นหวายออกหรือที่เรียกกันว่า “ขี้หวาย” วิธีการเหลาจะใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งยกขึ้นชันเข่า วางมีดตอกให้ด้ามอยู่ในแขน
เพื่อประคอง ส่วนตัวมีดวางบนหลังเท้าใช้นิ้วหัวแม่มือ,
นิ้วชี้และนิ้วกลางพันผ้า
ไว้แล้วใช้มืออีกข้างจับปลายเส้นหวายดึงหวายข้างละครึ่งเส้น โดยดึงหวายเบา ๆ
เพื่อป้องกันไม่ให้หวายขาดและสิ่งที่ต้องระวัดระวังเป็นอย่างยิ่งก็คืออันตราย
จากการใช้มีด รวมถึงเส้นหวายซึ่งมีความคมซึ่งไม่ระมัดระวังอาจทำให้ได้รับ
อันตรายได้หากไม่มีความชำนาญพอ






๒.ปอแสลงพัน
ปอแสลงพัน เป็นพืชประเภทเถาวัลย์แต่มีขนาดใหญ่มาก
(ขนาดสะโพกหรือใหญ่กว่า) ชอบขึ้นในป่ารกชัฎ เลื้อยไต่ขึ้นต้นไม้ที่สูงกว่า มีคุณสมบัติพิเศษคือความเหนียวและความคงทน เวลาตัดจะต้องตัด
ให้ได้ความยาวตามต้องการ (สมัยก่อนปอแสลงพันบางต้นตัดแล้วบรรทุก
เป็นเล่มเกวียน) จากนั้นนำต้นปอที่ตัดได้มาลอกขณะยังสดอยู่เพราะจะ
ลอกง่าย เนื้อปอจะเป็นชั้น ตากจนแห้งจึงนำไปใช้งานได้ ปัจจุบันนี้
ี้ปอแสลงพันหายาก จึงจำเป็นต้องซื้อจากชาวบ้านที่นำมาขาย พวงหนึ่งมี ๕ เส้น ราคา พวงละ ๑๒๐ บาท

การฉีกปอแสลงพัน
เมื่อซื้อแล้วจะฉีกเป็นเส้นเล็กๆ มีขนาดเท่ากัน สำหรับนำไปทอกับหวาย ถ้าไม่ฉีกเป็นเส้นเล็ก ๆ และขนาดไม่เท่ากัน เวลาทอจะไม่สวย ก่อนจะฉีก
ปอเป็นเส้นเล็ก ๆ ต้องทำการลอกปอตามชั้นเยื่อปอ ออกเป็นแผ่น ๆ ก่อน ถ้าเป็นปอดี ๆ ๑ กลีบ จะแกะเยื่อได้ประมาณ ๓-๔ แผ่น ผู้ลอกปอจะต้องนั่ง
เหยียดขาตรงนำปอไปเกี่ยวกับเท้าที่ตั้งขึ้น มือจะจับที่ปลายทั้งสองด้าน
ของปอแล้วลอกปอตามเยื่อที่เป็นชั้น ออกให้เป็นแผ่น ๆ จากนั้นนำแผ่น
ลอกออกมาแล้วไปฉีก โดยจะฉีกปอให้มีขนาดเท่า ๆ กัน แล้วเก็บรวม
เป็นมัดเพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้















๓.อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในทอเสื่อ


๑. เต่า เป็นเครื่องมือทำจากไม้เนื้อแข็ง
เช่น ไม้ชิงชัน ไม้สัก ไม้ประดู่ ฯลฯ ใช้สำหรับ
กระทบกับปอเพื่อให้การถักทอให้แน่นและกระชับ




๒. มีด ใช้สำหรับตัดเศษปอและเศษหวาย






๓. มีดตอก ใช้สำหรับเหลาหวาย






๔. ขันใส่น้ำ หรืออุกรณ์ใส่น้ำอื่น ๆ ใช้สำหรับ
ใส่น้ำปะพรมหวายเพื่อให้หวายอ่อนตัว
เวลาทอจะได้ทอได้ง่าย




๕. ไม้วัดความยาว ใช้สำหรับไว้วัด
ความยาวของเสื่อหวาย วัดเป็นศอก
วา คืบ นิ้ว




๖. ผังไม้ ใช้สำหรับการเริ่มต้นก่อเสื่อหวาย






๗. เส้นด้ายทอผ้า ใช้สำหรับ
ทำลายบนเสื่อหวาย (ยกดอก)





๘. เชือกไนล่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
๓ มิลลิเมตร ใช้สำหรับเม้มหัวเสื่อ
ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับเชือกปอ




๙. เชือกปอ จะนำมาพันให้เป็นเกลียว
คล้ายเชือกไนล่อน ซึ่งใช้คู่กับเชือกไนล่อน
ใช้สำหรับเม้นหัวเสื่อ




๑๐. หวายน้ำ มีลักษณะอ่อนมาก
โดยจะเหลาให้บางและส้นจะเล็กพอ
ประมาณ ใช้สำหรับถักหัวเสื่อ




๔.ขั้นตอนกระบวนการผลิต และ วิธีทำ
ส่วนมากจะใช้ใต้ถุนบ้านหรือพื้นที่
โล่งอาจเป็นพื้นปูน หรือพื้นไม้
เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อสกปรก
สำหรับทำการก่อเสื่อ ขั้นแรก
นำผังไม้มาวางแล้วนำหวายที่เหลา
แล้วมาวางเรียงกันตามจุดที่จะเริ่ม
ก่อเสื่อ


และนำหวายมาขัดกับหวายสองเส้นแรก
ให้ปลายขัดกับผังไม้ ขัดเป็นลายขัดหนึ่ง
(คือการนำหวายมาขัดแบบเส้นหนึ่งขึ้น
และเส้นหนึ่งลง) ก่อนที่จะนำหวายมาทอ
ต้องพรมน้ำที่หวายเพื่อให้หวายอ่อนตัว
และ ทอได้ง่าย




ถ้าต้องการให้เสื่อหวายสวยงาม
เพิ่มมากขึ้นจะนำเส้นด้ายทอผ้าสอด
แทนปอเพื่อให้เกิดลวดลาย เรียกว่า“ยกดอก”







เมื่อทอเสื่อหวายจนสุดเส้นหวายแล้ว ต่อไป
คือ การเม้มหัวเสื่อ เมื่อได้เสื่อหวายที่ทอได้ขนาด
ความยาวที่ต้องการแล้วจะตัดเศษหวายที่ปลายหวาย
ให้เหลือความยาวประมาณ ๒ ๑/๒ นิ้ว เพื่อไว้
สำหรับเม้มหัวเสื่อวิธีทำพับปลายหวายทับลงบนเชือกปอที่เท้า
ขึงไว้ทั้งสองข้าง แล้วใช้เชือกไนล่อนมามัดปลาย
หวายที่พันทับปออยู่สลับขึ้นลงจนสุดความยาวของเสื่อ



เมื่อใช้เชือกไนล่อนมัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นการถักหัวเสื่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ
การทอเสื่อหวาย







วิธีการถักหัวเสื่อจะใช้หวายน้ำสอดลงช่องระหว่างหวายที่เม้มไว้แล้ว
หนึ่งช่องดึงขึ้นมาแล้วข้ามกลับไปอีกช่องหนึ่ง ดึงขึ้นมาจะได้รูปแบบ
คล้ายผูกโบว์แล้วทำการดึงให้แน่นการสอด จะมีลักษณะเหมือนกับการ
สานปลาช่อน ทำไปเรื่อย ๆ จนสุดความยาวของเสื่อก็เป็นการสร็จสิ้นการ
ทอเสื่อหวายที่ต้องการ





การทอเสื่อหวาย จะเน้นถึงความสำคัญของขันน้ำและมีดที่จะขาดเสียมิได้ เพราะมีดจะต้องนำมาใช้ตัดเศษหวาย – เศษปอ ส่วนขันน้ำนั้นจะต้อง
ใส่น้ำไว้เสมอ เพื่อจะนำน้ำมาพรมหวายไม่ให้หวายแห้ง และทั้งสองสิ่งนี้
จะต้องอยู่ข้างตัวเสมอ





๕.ประโยชน์ / หน้าที่ใช้สอย
เสื่อหวาย เป็นเสื่อที่มีความแข็งแรงทนทานถาวรและอายุการใช้งาน
มากกว่าเสื่อชนิดอื่น ๆบางผืนมีอายุการใช้งานมากกว่า ๑๐๐ ปี ทั้งนี้เป็นเพราะใช้หวายและปอแสลงพันเป็นวัสดุหลักในการผลิต จึงมีราคากว่าเสื่ออื่น ประโยชน์ของเสื่อหวายใช้สำหรับปูนั่ง นอน













๖.วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงต่อการสูญหาย
จากการเก็บข้อมูลภูมิปัญญาด้านช่างฝีมือพื้นบ้านเรื่อง การทอเสื่อหวาย จะพบว่าในอดีต
การทอเสื่อหวายเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่บรรพบุรุษได้คิดค้นและสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม
มาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดในการทอเสื่อในสมัยอดีตนั้นก็เพื่อเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
จึงทำให้ภูมปัญญาไทยเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำให้เป็น เนื่องจากสมัยก่อนนั้นไม่มีเทคโนโลยี การซื้อขายแทบไม่มี ส่วนใหญ่ชาวชนบทจะนำไปแลกเปลี่ยนกัน การเป็นอยู่ในสมัยอดีตเป็นการเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบันนี้จวบจนสมัยปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย ทำให้ความสำคัญของ
เสื่อหวายอันเป็นมรดกของคนไทยเริ่มหมดความสำคัญลง และอาจสูญหาย เนื่องมาจาก
๑.คนในยุคสมัยนี้ทำงานแข่งกับเวลาเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีเวลาให้กับภูมิปัญญา
พื้นบ้าน พ่อแม่ไม่สอนลูก เนื่องจากไม่มีเวลา ลูกต้องไปโรงเรียน และไม่มีความสนใจสิ่งเหล่านี้
๒.เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถผลิตวัสดุต่าง ๆ ที่ทดแทนเสื่อหวายได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า
มีความสวยงามกว่า คงทนกว่า หาซื้อได้ง่าย เก็บรักษาง่าย จึงไม่มีคนสนใจให้ความสำคัญกับ
เสื่อหวาย เช่น เสื่อที่ทำจากพลาสติค ทำให้เสื่อหวายหมดความสำคัญลง
๓.กระบวนการผลิต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสื่อหวายเสี่ยงต่อการสูญหาย เพราะกระบวนการผลิตเสื่อหวายยุ่งยาก หลายขั้นตอน ต้องใช้เวลาและต้องมีเวลา
๔.วัสดุที่ใช้ในการผลิตหายาก และมีราคาแพง
๕. ตลาดรองรับการผลิตไม่มี เมื่อผลิตแล้วขายไม่ได้ การผลิตเพื่อขายใช่ว่าจะมองได้เพียง
แต่เป็นการค้า แต่สิ่งที่แฝงไว้ก็คือการสืบทอด หากมีตลาดรองรับ ผู้คนก็ให้ความสนใจที่จะผลิต
ทำให้เกิดการสืบทอดผลงานไปในตัว
๖.ไม่มีหน่วยงานที่ลงไปสนับสนุนและรับผิดชอบโดยตรง เพราะการดำรงชีวิตในปัจจุบันต้องอาศัยเงินเป็นหลัก หน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องจัดให้ครบวงจรคือหาวัสดุ ผลิตและหาตลาด รวมถึงสถานศึกษาในท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญที่จะนำภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้
เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้การทอเสื่อหวายคงอยู่สืบไป

รายชื่อภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการทอเสื่อหวาย
จากการเก็บข้อมูล ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านช่างพื้นบ้าน “การทอเสื่อหวาย” ในพื้นที่
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งนี้ สามารถรวบรวมบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านการทอเสื่อหวายได้ จำนวน ๕ ราย ดังนี้
๑. นางจินดา กิจติยา อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๑ หมู่ที่ ๘ ตำบลตะเคียนเลื่อน
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
๒.นางเพี้ยน แต้เตียว อยู่บ้านเลขที่ ๒/๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลตะเคียนเลื่อน
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
๓.นางสุข แตห่าน อยู่บ้านเลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๘ ตำบลตะเคียนเลื่อน
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ (มารดาของนางจินดา กิจติยา)
๔.นางแฉล้ม เขตนุช อยู่บ้านเลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลตะเคียนเลื่อน
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
๕.นางสาวโปร่ง เทศนุช อยู่บ้านเลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลตะเคียนเลื่อน
อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น: